แมว-โรคเยื่อบุช่องท้องอักเสบ




แมว-โรคเยื่อบุช่องท้องอักเสบ
เกิดจากการติดเชื้อในกลุ่ม Coronavirus เชื้อไวรัสก่อโรคเยื่อบุช่องท้องอักเสบในแมวจะมีลักษณะคล้ายคลึงกับเชื้อไวรัสที่ก่อโรคลำไส้อักเสบในแมว หรือ feline enteric coronavirus ซึ่งเป็นเชื้อที่มีความรุนแรงต่ำกว่า เชื้อมีการเกิด mutation และทำให้ก่อความรุนแรงมากขึ้นในแมว โดยทั่วไปเชื้อไวรัสเยื่อบุช่องท้องอักเสบสามารถมีชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมได้นานประมาณ 3-7 สัปดาห์ รวมทั้งสามารถถูกทำลายด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อประเภทต่างๆ การติดเชื้อไวรัสเยื่อบุช่องท้อง สามารถพบได้มากในแมวที่มีระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายไม่แข็งแรง เช่น แมวเด็กและแมวแก่ กลุ่มแมวที่เลี้ยงกันแบบหนาแน่นหรือเกิดความเครียด นอกจากนั้นยังสามารถพบได้ในแมวป่วยด้วยโรคระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายเช่น โรคลิวคิเมีย โรคเอดส์แมว เป็นต้น โรคเยื่อบุช่องท้องอักเสบสามารถพบได้ในแมวทุกเพศและสายพันธุ์ 
       
        สำหรับการติดต่อของโรคเยื่อบุช่องท้องอักเสบในแมวนั้น สามารถแพร่ผ่านได้โดยการติดต่อการสัมผัสกันระหว่างแมว หรือการสัมผัสอุจจาระของแมวป่วยที่ใช่กระบะทรายร่วมกัน รวมทั้งการติดเชื้อไวรัสผ่านวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ร่วมกัน และปัจจุบันเชื่อว่าเชื้อไวรัสเยื่อบุช่องท้องอักเสบสามารถเกิดได้จากการ mutation ของเชื้อ corona เองในตัวแมวเองอีกด้วย ภายหลังการติดเชื้อไวรัสโรคเยื่อบุช่องท้องอักเสบ การก่อโรคและอาการจะแตกต่างกันไปในแมวแต่ละตัว ขึ้นอยู่กับปัจจัยที่สำคัญ เช่น อายุของแมวขณะได้รับเชื้อ ระดับและประเภทภูมิคุ้มกันในร่างกาย สุขภาพทั่วไปขณะที่ได้รับเชื้อ รวมทั้งปริมาณและความรุนแรงของเชื้อไวรัส ที่จะส่งผลให้เกิดลักษณะและรูปแบบของการติดเชื้อที่แตกต่างกัน ได้แก่ การติดเชื้อเรื้อรังแมวที่ได้รับการสัมผัสเชื้อไวรัสโรคเยื่อบุช่องท้องอักเสบและมีระดับภูมิคุ้มกันของร่างกายในระดับที่พอควบคุมโรคได้ แต่เมื่อแมวป่วยด้วยโรคที่ส่งผลยับยั้งระดับภูมิคุ้มกันในร่างกายจะทำให้ก่อโรคและอาการต่างๆ การติดเชื้อแบบแห้ง (Dry form) แมวที่มีภูมิคุ้มกันชนิดเซลล์ในร่างกายค่อนข้างน้อย จะก่อให้เกิดอาการของโรคเยื่อบุช่องท้องอักเสบแบบก้อนในร่างกาย มีการพัฒนาโรคแบบช้าๆ และพบได้หลายตำแหน่ง อาการที่พบการติดเชื้อแบบแห้งมักไม่จำเพาะ ซึ่งได้แก่ ซึม เบื่ออาหาร มีไข้ น้ำหนักลด 
       
        หากมีการอักเสบแบบก้อนในเนื้อเยื่อประสาท เช่นสมอง จะพบว่าแมวป่วยมีอาการด้านระบบประสาท เช่น เดินไม่สัมพันธ์กัน สั่น ชัก หรือสูญเสียการควบคุมการขับถ่ายปัสสาวะ หากมีรอยโรคแบบก้อนในช่องท้อง อาจตรวจพบความผิดปกติของการทำงานของตับและไต นอกจากนั้นแมวบางรายอาจพบรอยโรคได้บริเวณนัยน์ตา แมวที่ป่วยด้วยรูปแบบนี้มักจะมีอายุยืนนานกว่าการติดเชื้อแบบเปียก การติดเชื้อแบบเปียก (Wet form) แมวที่มีระดับภูมิคุ้มกันชนิดเซลล์ในร่างกายระดับต่ำมากจะก่อให้เกิดอาการของโรคเยื่อบุช่องท้องอักเสบที่มีการคั่งของน้ำในบริเวณทรวงอกและช่องท้อง เนื่องจากการเสียสภาพของเส้นเลือดจึงมีส่วนประกอบของน้ำเลือดรั่วมาอยู่ในบริเวณดังกล่าว แมวที่ป่วยมักจะมีร่างกายผอม มีไข้ เบื่ออาหาร เลือดจาง ช่องท้องขยายใหญ่ขึ้น มีน้ำสะสมในช่องท้อง ในแมวบางรายอาจมีอาการหายใจลำบากเนื่องจากมีน้ำสะสมอยู่ในช่องอก แมวที่ป่วยในรูปแบบนี้มักจะมีชีวิตอยู่ได้ไม่ยืนยาวนัก 
       
        สำหรับแมวป่วยที่มีอาการต่างๆ ข้างต้น ควรเข้ารับการตรวจร่างกายทั่วไปเพื่อวินิจฉัยแยกแยะออกจากความผิดปกติอื่นๆ ซักประวัติและตรวจร่างกายอย่างละเอียด ตรวจเลือดเพื่อดูความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด การทำงานต่างๆของตับและไต การตรวจระดับโปรตีนในกระแสเลือด การเจาะตรวจวิเคราะห์น้ำในช่องอกและช่องท้อง การตรวจหาระดับภูมิคุ้มกันต่อโรคเยื่อบุช่องท้องอักเสบ ซึ่งต้องอาศัยการตรวจหลายๆวิธีร่วมกัน เป็นต้น สำหรับแมวที่ป่วยด้วยโรคเยื่อบุช่องท้องอักเสบควรแยกเลี้ยงจากแมวปกติอื่นๆ รวมทั้งวัสดุและอุปกรณ์ต่างๆ ไม่ควรนำมาใช้ร่วมกัน ในการรักษาแมวป่วยด้วยโรคเยื่อบุช่องท้องอักเสบนั้นไม่มีวิธีที่เฉพาะเจาะจง การรักษาโดยทั่วไปกระทำโดยการรักษาตามอาการของแมวป่วย ได้แก่ การเจาะระบายน้ำในช่องท้องหรือช่องอก การให้สารน้ำและสารอาหาร การให้ยาปฏิชีวนะเพื่อลดการติดเชื้อแทรกซ้อน การให้ยากดภูมิคุ้มกัน การถ่ายเลือดในกรณีที่เลือดจางรุนแรง เป็นต้น

  • Digg
  • Del.icio.us
  • StumbleUpon
  • Reddit
  • RSS

0 comments:

Post a Comment

My Blog List

Labels

กระต่าย - กระต่ายท้องอืด กระต่าย - จะผสมกระต่ายเมื่ออายุเท่าไหร่ กระต่าย-ดูแลกระต่ายท้อง กระต่าย-สายพันธุ์เนเธอร์แลนด์ ดวอฟ กระต่าย-สายพันธุ์พันธุ์อเมริกัน ฟัซซี่ ลอป กระต่าย-สายพันธุ์พันธุ์ฮอลแลนด์ ลอป การดูเพศกระต่าย ชูการ์ ไกลเดอร์ (sugar glider) ชูการ์ ไกลเดอร์ (sugar glider) - สายพัพธุ์ ชูการ์ไกลเดอร์ พันธุ์กระต่าย แมว - 4 สายพันธุ์แมวไทยที่เหลืออยู่ แมว - โรคช่องท้องอักเสบติดต่อในแมว หรือเรียกสั้นๆ FIP แมว-โรคติดเชื้อไวรัสในระบบทางเดินหายใจของแมว แมว-โรคผิวหนังที่เกิดจากเชื้อรา แมว-โรคเยื่อบุช่องท้องอักเสบ แมว-โรคเอดส์แมว รวมโรคน้องกระต่าย หนูแก๊สบี้-พืชที่เป็นอันตรายกับหนูแก๊สบี้ หนูแก๊สบี้-โรคคอเอียง หนูแก๊สบี้-สายพันธุ์หนูแก๊สบี้