แมว - โรคช่องท้องอักเสบติดต่อในแมว หรือเรียกสั้นๆ FIP




โรคช่องท้องอักเสบติดต่อเกิดจากเชื้ออะไรและติดต่อมายังแมวได้อย่างไร

โรคช่องท้องอักเสบติดต่อในแมว (ต่อไปนี้จะขอเรียกสั้นๆว่า โรค FIP) เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสที่ชื่อ Coronavirus เมื่อไวรัสชนิดนี้เข้าสู่ร่างกายน้องแมวโดยมากแล้ว จะไม่แสดงอาการป่วยให้เห็นแต่อย่างใด หรืออาจพบว่ามีอาการท้องเสียได้บ้าง แต่ในแมวบางตัว (ซึ่งเป็นส่วนน้อย คือ ราวๆ 5-10%) ไวรัสนี้จะพัฒนาตัวเองและทำให้แมวแสดงอาการของโรคช่องท้องอักเสบติดต่อตามมาได้
การติดต่อของเชื้อไวรัสนี้จะมาจากการปนเปื้อนสิ่งที่อยู่ในระบบทางเดินอาหารของแมว เช่น น้ำลาย อุจจาระ และอาจจะติดจากแม่แมวไปสู่ลูกแมวในช่วงที่มีการตั้งท้องก็ได้ค่ะ ดังนั้นเราจึงมักจะพบการติดต่อของไวรัสนี้ในน้องแมวที่อาศัยอยู่รวมกันหลายตัว และใช้ชามอาหาร/น้ำ กระบะทรายร่วมกันนั่นเอง
อาการที่อาจพบได้

ในช่วงแรกของการติดเชื้อ อาจจะไม่พบอาการผิดปกติชัดเจน หรือในบางรายอาจจะพบว่าน้องแมวมีไข้โดยไม่ทราบสาเหตุ ตาอักเสบ มีความผิดปกติที่ระบบทางเดินหายใจส่วนต้น หรืออาจพบอาการท้องเสียได้ ซึ่งอาการเหล่านี้อาจกินเวลาไม่กี่วัน จนถึงหลายอาทิตย์ได้ และต่อมาก็จะมีอาการที่แตกต่างกันไปในน้องแมวแต่ละตัว ขึ้นอยู่กับระดับการตอบสนองของภูมิคุ้มกันของแมวตัวนั้นๆ โดยสามารถแบ่งกลุ่มอาการของโรคนี้แบบคร่าวๆได้ 2 แบบ คือ
  1. Wet form หรือ Effusion form จะพบว่ามีการสะสมของน้ำในช่องท้อง (และอาจพบได้ในช่องอกด้วย) ทำให้พบว่าแมวท้องกางขึ้น หายใจลำบาก เนื่องจากมีน้ำในช่องท้องไปดันกระบังลม หรือมีน้ำในช่องอก น้องแมวมักจะมีไข้ขึ้นๆลงๆ ซึม เบื่ออาหาร น้ำหนักลด เหงือกซีดหรือเหลือง
  2. Dry form หรือ Non-effusion form ในกรณีที่เป็นแบบนี้ กระบวนการพัฒนาของโรคจะช้ากว่าแบบ wet form โดยจะไม่พบการสร้างน้ำเข้าสู่ช่องท้องหรือช่องอก แต่จะมีกระบวนการอักเสบและก่อเป็นก้อนอักเสบตามอวัยวะต่างๆของร่างกาย (ไต ตับ ตับอ่อน ม้าม ต่อมน้ำเหลือง ลำไส้ ปอด สมอง และตา) ทำให้มีความผิดปกติกับอวัยวะนั้นๆ เช่น ไต/ตับอักเสบ ตับอ่อนอักเสบ  ม้ามโต ท้องเสียเรื้อรัง ชัก อัมพาต ช่องหน้าตาอักเสบหรืออาจพบอาการตาบอดเฉียบพลันก็ได้ค่ะ


จะรู้ได้อย่างไรว่าน้องแมวเป็นโรค FIP
ในปัจจุบันนี้ยังไม่มีการตรวจวินิจฉัยใดๆที่สามารถฟันธงได้ว่าน้องแมวป่วยด้วยโรค FIP โดยเฉพาะในกรณีที่มีอาการแบบ Dry form เพราะบางตัวอาจจะทราบว่าน้องแมวป่วยด้วยโรคนี้ก็เมื่อตอนที่ทำการชัยสูตรศพน้องแมวที่เสียชีวิตไปแล้ว ดังนั้นการจะพิจารณาว่าน้องแมวป่วยด้วยโรค FIP นั้น ก็จะใช้วิธีดูผลการตรวจจากห้องปฏิบัติการร่วมกับการวิเคราะห์ประวัติและอาการของน้องแมว โดยการตรวจทางห้องปฏิบัติการนั้นมีดังนี้
-การตรวจเลือดโดยตรวจดูปริมาณเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว เกล็ดเลือด ค่าตับ ค่าไต และปริมาณโปรตีนในเลือด
-การตรวจด้วยชุดตรวจสำเร็จรูปเพื่อหาเชื้อ Feline coronavirus
-การตรวจหาเชื้อด้วยเทคนิคการเพิ่มสารพันธุกรรมของไวรัส (การทำPCR)
-การเอ็กซเรย์และการอัลตร้าซาวนด์ เพื่อดูว่ามีน้ำหรือก้อนผิดปกติในช่องท้อง/ช่องอกหรือไม่
- การตรวจชุดตรวจสำเร็จรูปเพื่อหาเชื้อไวรัส FIV/FeLV เนื่องจากในหลายๆกรณีอาจจะพบว่ามีารติดเชื้อไวรัส 2 ชนิดนี้ร่วมด้วย หรือในกรณีที่น้องแมวป่วยด้วยไวรัส FeLV ก็อาจพบว่าทำให้เกิดน้ำในช่องอกหรือช่องท้องได้เช่นกันค่ะ
-ในกรณีที่มีน้ำในช่องท้อง/ช่องอก ก็จะน้ำจากช่องท้องหรือช่องอกไปตรวจเพิ่มเติม
-ในกรณีที่ความผิดปกติที่ตาหรือมีอาการตาบอด อาจต้องทำการตรวจตาและจอตาเพิ่มเติม

·         การรักษาโรค FIP
·         ในปัจจุบันยังไม่มีการรักษาใดที่ได้ผลดีชัดเจน ส่วนใหญ่จะเป็นการรักษาตามอาการและพยายามทำให้แมวมีสุขภาพที่แข็งแรงมากที่สุดเท่าที่ทำได้ ดังนี้
o    ถ้าเป็นในกรณีที่มีน้ำในช่องอกหรือช่องท้อง ก็มักจะมีการเจาะดูดน้ำเหล่านั้นออก การจะเจาะน้ำออกบ่อยมากน้อยแค่ไหนนั้น สัตวแพทย์จะดูจากอาการของน้องแมวและปริมาณน้ำที่คาดว่าจะมีค่ะ
o    ในกรณีที่มีการขาดน้ำ ก็ให้สารน้ำหรือน้ำเกลือแบบฉีดเข้าเส้นเลือดหรือเข้าทางใต้ผิวหนังแก่น้องแมว
o    พยายามทำให้น้องแมวได้รับสารอาหารเพียงพอ ถ้าน้องแมวไม่มีการอาเจียน อาจพิจารณาป้อนอาหารเสริมให้แก่น้องแมว แต่ถ้ามีอาการอาเจียนหรือไม่สามารถป้อนอาหารได้มากพอ สัตวแพทย์อาจพิจารณาให้สารอาหารเสริมเข้าทางเส้นเลือด หรืออาจคาท่อสำหรับป้อนอาหารลงสู่กระเพาะอาหารโดยตรงค่ะ
o    อาจมีการให้ยาในกลุ่มที่มีฤทธิ์ในการกดภูมิต่างๆ เช่น ยาในกลุ่มสเตียรอยด์ เพื่อกดปฏิกิริยาการอักเสบที่ทำให้เกิดน้ำหรือก้อนอักเสบต่างๆ
o    ให้ยาปฏิชีวนะเพื่อฆ่าเชื้อแบคทีเรียที่อาจเข้ามาแทรกซ้อน
o    ให้วิตามินและแร่ธาตุต่างๆเสริม
o    อาจมีการฉีดยาจำพวก Interferon ซึ่งเชื่อว่าสามารถต่อต้านเชื้อไวรัสและปรับสมดุลภูมิคุ้มกันได้

การป้องกันโรค FIP
            ในปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันโรค FIP ซึ่งเป็นวัคซีนแบบหยอดจมูก วัคซีนนี้ให้ผลในการป้องกันโรคไม่ดีนัก คือราวๆ 70% และยังมีโอกาสเกิดผลข้างเคียงบางประการได้ ดังนั้นถ้าเจ้าของท่านใดต้องการทำวัคซีนเพื่อป้องกันโรคนี้ ให้ลองสอบถามกับสัตวแพทย์ที่ดูแลน้องแมวของคุณผู้อ่านกันก่อนนะคะ
การป้องกันโรค FIP นี้นั้น นอกจากการทำวัคซีนแล้ว ก็ คือการลดโอกาสการติดเชื้อและการปนเปื้อนของเชื้อในสิ่งแวดล้อม เช่น ในกรณีที่เลี้ยงแมวหลายตัว ควรจัดเตรียมกระบะทรายให้เพียงพอ หมั่นตักทำความสะอาดทรายแมวเป็นประจำอย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง อย่าเลี้ยงแมวหนาแน่นเกินไป เพราะอาจจะทำให้น้องแมวเครียดได้ง่าย ให้อาหารที่มีโภชนาการที่ดี เพื่อให้แมวมีสุขภาพที่แข็งแรง ถ้าในบ้านตรวจพบว่ามีน้องแมวที่เป็นโรคนี้หรือสงสัยว่าจะเป็น ควรแยกเลี้ยงต่างหากกับน้องแมวตัวอื่น ไม่ควรใช้กระบะทราย ชามอาหารและน้ำร่วมกับน้องแมวที่เป็นโรค FIP โดยเด็ดขาดค่ะ

  • Digg
  • Del.icio.us
  • StumbleUpon
  • Reddit
  • RSS

0 comments:

Post a Comment

My Blog List

Labels

กระต่าย - กระต่ายท้องอืด กระต่าย - จะผสมกระต่ายเมื่ออายุเท่าไหร่ กระต่าย-ดูแลกระต่ายท้อง กระต่าย-สายพันธุ์เนเธอร์แลนด์ ดวอฟ กระต่าย-สายพันธุ์พันธุ์อเมริกัน ฟัซซี่ ลอป กระต่าย-สายพันธุ์พันธุ์ฮอลแลนด์ ลอป การดูเพศกระต่าย ชูการ์ ไกลเดอร์ (sugar glider) ชูการ์ ไกลเดอร์ (sugar glider) - สายพัพธุ์ ชูการ์ไกลเดอร์ พันธุ์กระต่าย แมว - 4 สายพันธุ์แมวไทยที่เหลืออยู่ แมว - โรคช่องท้องอักเสบติดต่อในแมว หรือเรียกสั้นๆ FIP แมว-โรคติดเชื้อไวรัสในระบบทางเดินหายใจของแมว แมว-โรคผิวหนังที่เกิดจากเชื้อรา แมว-โรคเยื่อบุช่องท้องอักเสบ แมว-โรคเอดส์แมว รวมโรคน้องกระต่าย หนูแก๊สบี้-พืชที่เป็นอันตรายกับหนูแก๊สบี้ หนูแก๊สบี้-โรคคอเอียง หนูแก๊สบี้-สายพันธุ์หนูแก๊สบี้