กระต่าย-สายพันธุ์พันธุ์ฮอลแลนด์ ลอป



นักพัฒนาพันธุ์กระต่ายชาวเนเธอร์แลนด์ชื่อ นายแอนเดรียน เดอคอก ซึ่งในขณะนั้นเป็นนักพัฒนากระต่ายสายพันธุ์แทน แต่กลับมีความชื่นชอบกระต่ายสายพันธุ์เนเธอร์แลนด์ดวอฟและสายพันธุ์เฟรนช์ลอปเป็นพิเศษ มีความคิดที่จะผสมกระต่ายให้ได้กระต่ายหูตกที่มีขนาดเล็กลงกว่าที่เป็นอยู่ ดังนั้นในช่วงฤดูหนาวปี ค.ศ. 1949 หรือ พ.ศ. 2492 เขาได้ผสมกระต่ายเฟรนช์ลอปเพศผู้กับกระต่ายขาวเนเธอร์แลนด์ดวอฟเพศเมีย โดยหวังว่าจะได้กระต่ายหูตกที่ตัวเล็กลง แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ หลังจากการผสมข้ามพันธุ์ในครั้งนั้น สองปีต่อมา คือในปี ค.ศ. 1951 หรือ พ.ศ. 2494 เขาลองผสมกระต่ายเฟรนช์ลอปเพศเมียกับกระต่ายเนเธอร์แลนด์ดวอฟเพศผู้ ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องง่ายนักที่จะผสมกระต่ายต่างสายพันธุ์ที่มีขนาดที่แตกต่างกันมากเช่นนี้ แต่เขาก็ประสบความสำเร็จ จากความพยายามผสมในครั้งที่ 3 จนกระทั่งได้ลูกกระต่ายออกมาทั้งหมดหกตัว ทุกตัวมีหูตั้งและชิดกัน อันเกิดจากลักษณะเด่นของกระต่ายเนเธอร์แลนด์ดวอฟ ซึ่งข่มทับอย่างสมบูรณ์ ในปีถัดมา เขานำลูกกระต่ายเพศเมียเหล่านั้นไปผสมกับกระต่ายอิงลิชลอปเพศผู้สีฟางข้าว ได้ลูกกระต่ายออกมาห้าตัว ตัวเมียหนึ่งตัวในครอกนี้หูตก สองตัวหูตั้ง ที่เหลือ หูตกข้างตั้งข้าง ด้วยความที่ฝืนธรรมชาติกระต่ายเพศเมียที่ได้ทุกตัวจากการทดลองผสมข้ามสายพันธุ์ ไม่สามารถผสมติดให้ลูกเลย กระนั้นเขาก็ไม่ได้ละความพยายาม เขาได้ทดลองเอาพี่น้องต่างครอกผสมกัน ผลปรากฏว่าเป็นผลสำเร็จ จำนวนลูกหูตกที่ได้มากขึ้นและก็มีขนาดที่เล็กลงด้วย จนกระทั่ง ในปี ค.ศ. 1955 หรือ พ.ศ. 2598 ความพยายามของเขาก็เป็นผลสำเร็จ กระต่ายต้นแบบฮอลแลนด์ลอปได้ถือกำเนิดมาที่น้ำหนักประมาณ 2.5 ถึง 3 กิโลกรัม ในเดือนมกราคมปี ค.ศ. 1964 หรือ พ.ศ. 2507 กระต่ายแคระหูตกฮอลแลนด์ก็ได้รับการรับรองมาตรฐานสายพันธุ์จากสภากระต่ายแห่งประเทศเนเธอร์แลนด์ ที่น้ำหนักตัวน้อยกว่าสองกิโลกรัม

กระต่ายแคระหูตกฮอลแลนด์ของแอนเดรียน ได้นำเข้ามาในประเทศสหรัฐอเมริกาในปี ค.ศ. 1976 หรือ พ.ศ. 2519 และได้มีการเสนอให้มีการยอมรับสายพันธุ์นี้ต่อสมาคมพัฒนาพันธุ์กระต่ายของสหรัฐอเมริกา ที่งานประกวดกระต่ายสวยงาม ณ ทักสัน ในปี ค.ศ. 1980 หรือ พ.ศ. 2523

ถ้าจะกล่าวถึงกระต่ายที่เป็นที่นิยมในเมืองไทยมากที่สุดในขณะนี้ คงหนีไม่พ้นกระต่ายหูตกนั่นเอง อันเนื่องมาจากลักษณะที่โดดเด่นในตัวของกระต่ายเอง คือมีหูตกอยู่ที่ข้างแก้ม ซึ่งจัดว่าเป็นลักษณะที่แตกต่างจากกระต่ายปกติที่เราคุ้นเคย คือต้องมีหูตั้ง แต่นั่นก็ไม่ใช่เหตุผลหลัก ที่ทำให้กระต่ายสายพันธุ์นี้เป็นที่นิยมเลี้ยงในหมู่คนเลี้ยงกระต่าย แต่เป็นเพราะเนื่องจากกระต่ายพันธุ์นี้เป็นกระต่ายที่มีความเชื่องมากที่สุดพันธุ์หนึ่ง หุ่นที่แข็งแรง บึกบึน หูตก ขนสั้น สามารถจดจำชื่อของตัวเองได้และยังรู้จักเจ้าของอีก นอกจากนี้ ลักษณะภายนอกที่เห็นเด่นชัด ก็ไปมีรูปร่างลักษณะคล้ายกับสุนัขพันธุ์คอกเกอร์สแปเนี่ยล ที่มีหูตกห้อยอยู่ข้างแก้ม ด้วยคุณลักษณะทั้งหลายดังที่ได้กล่าวมาแล้วนี้ เราจึงสามารถกล่าวได้ว่ากระต่ายพันธุ์ฮอลแลนด์ลอปนี้ เป็นกระต่ายในดวงใจของผู้นิยมเลี้ยงกระต่ายหลายๆท่าน รวมทั้งในต่างประเทศด้วย อย่างเช่นในสหรัฐอเมริกา กระต่ายพันธุ์นี้เป็นที่นิยมเลี้ยงเป็นอย่างมาก จนถึงกับมีการตั้งมอตโต้ของกระต่ายสายพันธุ์นี้ ว่าเป็น ฮอลมาร์กบรีด (The Hallmark Breed) หรือเป็นหนึ่งในสายพันธุ์ที่เป็นตราเครื่องหมายของกระต่ายเลยทีเดียว

กระต่ายสายพันธุ์ฮอลแลนด์ลอปจัดว่าเป็นกระต่ายกลุ่มหูตกที่มีขนาดเล็กที่สุด เพราะว่าเมื่อดูจากประวัติของสายพันธุ์ ก็มาจากกระต่ายแคระเนเธอร์แลนด์ดวอฟ กระต่ายสายพันธุ์นี้ มีลักษณะเด่นที่หัวกลมโต แลดูน่ารักเหมือนตุ๊กตา มีน้ำหนักน้อยและลำตัวสั้น ซึ่งแตกต่างจากกระต่ายโดยทั่วไป จึงทำให้เป็นกระต่ายที่เป็นที่นิยมเลี้ยงกันในขณะนี้ การที่มีขนาดลำตัวที่สั้น ไหล่ที่กว้างหนา และมีความสูงสมดุลกันทั้งตัว ทำให้แลดูเหมือนก้อนกลมๆ หูที่สั้น ไม่ยาวมาก ทำให้แลดูน่ารัก โดยปกติ หูยิ่งสั้น ยิ่งดี เพราะว่าจะแสดงถึงลักษณะของกระต่ายแคระ

ในเพศผู้ จะมีขนาดลำตัวและหัวที่ใหญ่กว่า กล้ามเนื้อเด่นชัดกว่า ในเพศเมียจะแสดงออกถึงลักษณะของเพศเมียมากกว่า แต่ทั้งคู่ก็จะแสดงถึงลักษณะของสายพันธุ์ที่ประกอบไปด้วยกล้ามเนื้อ เมื่อเติบโตเต็มที่แล้ว

สำหรับชื่อที่ใช้เรียก กระต่ายสายพันธุ์ฮอลแลนด์ลอป ในแต่ละประเทศก็จะเรียกแตกต่างกันไป อันอาจจะก่อให้เกิดความสับสนได้โดยง่าย เช่น ในประเทศอังกฤษ (The British Rabbit Council) จะเรียกฮอลแลนด์ลอป ว่าเป็น มินิลอปแต่กลับเรียกมินิลอปเป็น ดวอฟลอป

สำหรับในประเทศไทย ไม่ได้เกิดจากการเรียกชื่อที่ผิด แต่เนื่องจากผู้เลี้ยงกระต่ายในเมืองไทย ยังคงมีความเข้าใจเรื่องมาตรฐานสายพันธุ์ของกระต่ายพันธุ์ฮอลแลนด์ลอปนี้อย่างผิดๆ โดยเข้าใจว่ากระต่ายหูตกลูกผสมที่มีลักษณะคล้ายกับกระต่ายพันธุ์มินิลอป แต่ขนกระด้างเหมือนกระต่ายไทยทั่วไป คือ ฮอลแลนด์ลอปสายพันธุ์แท้ ทั้งๆที่กระต่ายสองสายพันธุ์นี้ มีลักษณะที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง กล่าวคือ กระต่ายฮอลแลนด์ลอป จะมีหัวที่กลมกว่ามินิลอป น้ำหนักตัวที่น้อยกว่ามาก คือ 1.6-1.8กิโลกรัม ในขณะที่มินิลอปจะหนักกว่ามาก คือ กว่าสองกิโลกรัม (2.5-2.7 กิโลกรัม) เมื่อโตเต็มที่ หน้าและความยาวของหู สัดส่วนระหว่างหัวกับตัวซึ่งแตกต่างกันอย่างชัดเจน (ดังรูป) แต่ที่สำคัญและแตกต่างที่สุด ก็คือเรื่องของขน กระต่ายฮอลแลนด์ลอปสายพันธุ์แท้จะมีขนที่นุ่มลื่นเป็นเอกลักษณ์


สายพันธุ์กระต่ายฮอลแลนด์ลอปในอุดมคติ ที่เราจะจัดว่าสวยตรงตามมาตรฐานของสายพันธุ์ จะต้องมีหัวที่กลมโต กล้ามเนื้อหนาแน่น ลำตัวสั้น กะทัดรัด และสมมาตรทั้งความยาว ความกว้างและความสูง สัดส่วนของลำตัวและหัว ควรจะเป็น 3:1 ไหล่และอกกว้าง หนาและเต็ม เช่นเดียวกันกับสะโพก หัวที่โตต่อติดกับหัวไหล่ เหมือนไม่มีคอ ขาสั้น หนา ตรงและกระดูกใหญ่ หูทั้งสองข้างต้องตกแนบแก้ม เมื่อมองจากด้านหน้าตรง จะดูเหมือนเป็นรูปเกือกม้า หูต้องหนาและมีขนขึ้นเต็ม หูยาวเลยจากคางไปไม่เกิน 1 นิ้ว ความยาวของหูต้องสัมพันธ์กับหัวและตัว

น้ำหนักเมื่อโตเต็มที่ในอุดมคติคือ 1.6 กิโลกรัม (สำหรับตัวผู้) และ 1.7 กิโลกรัม (ในตัวเมีย) แต่น้ำหนักมากที่สุดที่สามารถจดทะเบียนได้ 1.8 กิโลกรัม

ลักษณะที่จะถูกหักคะแนนจากการประกวด ลำตัวยาวและแคบ ความกว้างและความสูงไม่สัมพันธ์กัน สันหลังโค้งผิดรูป ไหล่แคบหรือกว้างเกินไปไม่สมดุลกับลำตัวโดยรวม ไหล่อยู่ต่ำมาก สะโพกแคบ แบน ผอม มีกระดูก หัวยาวหรือแคบ หัวไม่สมดุลกับลำตัว เนื้อหูบาง หูไม่สมดุลกันกับลำตัว


กระต่ายฮอลแลนด์ลอปมีสีมากมายหลากหลายสี จนสามารถแบ่งออกเป็นกลุ่มสีต่างๆ ได้มากถึง 7 กลุ่มสี ได้แก่ กลุ่มอะกูติ (Agouti) กลุ่มสีขาวแต้ม (Broken) กลุ่มสีขาวมีมาร์กกิ้งแปดแต้ม (Pointed White) กลุ่มสีพื้น (Self) กลุ่มสีเฉด (Shaded) กลุ่มสีพิเศษ(Ticked) และกลุ่มสีอื่นๆ (Wide Band) หรือเราอาจจะกล่าวง่ายๆ ว่ามีสีต่างๆ ที่รับรองโดย ARBA แล้ว ดังต่อไปนี้ คือ

กลุ่มอะกูติ : สีเชสนัทอะกูติ สีช็อกโกแล็ตอะกูติ สีชินชิลล่า สีช็อกโกแล็ตชินชิลล่า สีลิงซ์ สีโอปอล สีกระรอก (Squirrel)

กลุ่มสีขาวแต้ม : สีขาวแต้ม คือสีขาว แต่มีสีแต้มเป็นสีอะไรก็ได้ ที่ได้รับการรับรอง รวมถึงสีไตรคัลเลอร์ หรือสามสี (มีสีขาว น้ำตาล และดำ)

กลุ่มสีขาวมีมาร์กกิ้งแปดแต้ม : โดยที่มาร์กกิ้งต้องมีสีกลุ่มสีพื้น (สีดำ สีบลู สีช็อกโกแล็ต สีไลแลค)

กลุ่มสีพื้น : สีดำ สีบลู สีช็อกโกแล็ต สีไลแลค สีขาวตาแดง และสีขาวตาฟ้า

กลุ่มสีเฉด : สีวิเชียรมาศ สีทองแดง สีซีล สีเทาควันบุหรี่ และสีกระ

กลุ่มสีพิเศษปลายขนสีน้ำตาล : ตอนนี้มีอยู่สีเดียวคือ สีสตีล หรือสีสนิมเหล็ก

กลุ่มสีอื่นๆ : สีครีม สีฟางข้าว สีฟร้อสตี้ (เทาควันบุหรี่อ่อนๆ) สีส้ม และสีแดง

ในขณะนี้ได้มีสีอีกกลุ่มหนึ่งที่เพิ่งจะได้รับการรับรองเมื่อต้นปี พ.ศ. 2548 ที่ผ่านมา คือ กลุ่มสร้อยทอง หรือ ออตเตอร์ สีทั้งหมดที่กล่าวมาแล้วนี้ เป็นสีมาตรฐานของสมาคมนักพัฒนาพันธุ์กระต่ายแห่งสหรัฐอเมริกา (The American Rabbit Breeders Association, Inc.) แต่ของสภากระต่ายแห่งสหราชอาณาจักร (The British Rabbit Council) ก็จะมีสีน้อยกว่านี้ แต่จะมีสีแปลกๆเพิ่มขึ้นมาแทน เช่น กลุ่มสีสร้อยเงิน เช่น สีเทาควันบุหรี่สร้อยเงินและสีทองแดงสร้อยเงิน เป็นต้น

  • Digg
  • Del.icio.us
  • StumbleUpon
  • Reddit
  • RSS

0 comments:

Post a Comment

My Blog List

Labels

กระต่าย - กระต่ายท้องอืด กระต่าย - จะผสมกระต่ายเมื่ออายุเท่าไหร่ กระต่าย-ดูแลกระต่ายท้อง กระต่าย-สายพันธุ์เนเธอร์แลนด์ ดวอฟ กระต่าย-สายพันธุ์พันธุ์อเมริกัน ฟัซซี่ ลอป กระต่าย-สายพันธุ์พันธุ์ฮอลแลนด์ ลอป การดูเพศกระต่าย ชูการ์ ไกลเดอร์ (sugar glider) ชูการ์ ไกลเดอร์ (sugar glider) - สายพัพธุ์ ชูการ์ไกลเดอร์ พันธุ์กระต่าย แมว - 4 สายพันธุ์แมวไทยที่เหลืออยู่ แมว - โรคช่องท้องอักเสบติดต่อในแมว หรือเรียกสั้นๆ FIP แมว-โรคติดเชื้อไวรัสในระบบทางเดินหายใจของแมว แมว-โรคผิวหนังที่เกิดจากเชื้อรา แมว-โรคเยื่อบุช่องท้องอักเสบ แมว-โรคเอดส์แมว รวมโรคน้องกระต่าย หนูแก๊สบี้-พืชที่เป็นอันตรายกับหนูแก๊สบี้ หนูแก๊สบี้-โรคคอเอียง หนูแก๊สบี้-สายพันธุ์หนูแก๊สบี้